ถึงแม้ข่าว PM 2.5 จะซาลงบ้างในช่วงหลัง แต่บางครั้งก็ยังแวะเวียนมาทักทายโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะวันที่ลมนิ่ง อากาศไม่ดี และในช่วงปลายปีที่ลมหนาวกำลังใกล้เข้ามา ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ก็จะแอบเล็ดลอดไปสะสมในร่างกายแบบที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว ส่งผลให้คนที่เป็นภูมิแพ้ หรือไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศไม่สบายกายไปตาม ๆ กัน เพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยแบบสูงสุด ลองไปดู 5 ไอเดียการออกแบบบ้านป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่เรานำมาฝากกัน
เลี่ยงวัสดุที่ดักจับและสะสมฝุ่น
สิ่งสำคัญที่ทำให้ฝุ่นที่ถูกพัดพาจากภายนอกเข้ามาสะสมภายในตัวบ้านได้นาน คือวัสดุพื้นผิวของบ้านที่เราเลือกใช้ การออกแบบบ้านกันฝุ่นขั้นเริ่มต้น สำหรับห้องอยู่ติดริมถนน หรือมีช่องเปิดขนาดใหญ่ เราแนะนำให้เลือกวัสดุที่ทำความสะอาดได้ง่าย และลดการเกาะติด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงวัสดุประเภทผ้า หรือวัสดุพื้นผิวขรุขระ เช่น ผนังก่ออิฐโชว์แนว อิฐบล็อกต่าง ๆ หรือวอลเปเปอร์ประเภทผ้า เพราะยากต่อการทำความสะอาดได้บ่อย แต่กลับสะสมสิ่งสกปรกได้ง่ายกว่า
ถ้าเป็นไปได้ บริเวณพื้นที่หลักอย่างพื้น หรือผนัง การเลือกใช้วัสดุเท็กเจอร์เรียบอย่าง ไม้ กระเบื้อง หรือหินเทอราซโซก็จะทำความสะอาดได้ง่ายและบ่อยกว่า ช่วยให้บ้านกันฝุ่นได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง
อย่ามองข้ามความสำคัญของพื้นที่สีเขียว
นอกจากพื้นที่สีเขียวในบ้านจะช่วยเสริมบรรยากาศผ่อนคลาย น่ามองแล้ว สวนและต้นไม้ยังกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้เป็นอย่างดี ยิ่งเราเลือกพันธุ์ไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยในการฟอกอากาศ อย่างเช่น ต้นปาล์มหมาก พลูด่าง ลิ้นมังกร หรือเดหลี ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบบ้านกันฝุ่น ถ้าบ้านเราติดถนนที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นชั้นดี การมีพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ บ้านจะช่วยกรองฝุ่นและสิ่งสกปรกที่พัดพามากับลม สร้างเกราะป้องกันอีกชั้นให้กับตัวบ้านได้มากขึ้นด้วย
มินิมอลสไตล์คือหัวใจสำคัญ
ใครเป็นภูมิแพ้อากาศหนัก ๆ เราแนะนำให้ถือคติมินิมอลลิสต์เป็นหัวใจสำคัญ และนำมาปรับใช้กับการออกแบบบ้านกันฝุ่น น้อยแต่มากไว้จะเป็นดี เราแนะนำให้พยายามเลือกเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น โซฟา ตู้ เตียง (และที่สำคัญอย่าลืมข้อ 1 นั่นคือเลือกวัสดุและเท็กเจอร์ที่ง่ายต่อการทำความสะอาด) นอกจากนั้นการลดสัดส่วนของชั้นวางที่มีของเล็กของน้อยตกแต่งมากมาย จะช่วยลดแหล่งสะสมฝุ่นได้ง่าย ๆ
แต่ถ้าใครมีของมากมายที่จำเป็นต้องจัดเก็บ อาจเลือกใช้ตู้ หรือชั้นวางที่มีบานปิด เพื่อลดปริมาณของฝุ่นที่เข้าไปหมักหมมทำความสะอาดได้ยาก และทำให้บ้านกลายเป็นที่สะสมของฝุ่นโดยที่เราไม่รู้ตัว
บ้านกันฝุ่นต้องลดซอกมุมเล็ก ๆ
อีกหนึ่งจุดที่หลายคนมองข้ามแต่กลายเป็นปัญหากวนใจในภายหลัง คือการออกแบบวางผังที่มีซอกมุมเยอะ ๆ หรือเพดานสูงทำความสะอาดยาก เพราะเป็นจุดซ่อนตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ๆ ที่เราเข้าไปทำความสะอาดไม่ถึง การกำหนดขอบเขตของห้องที่ชัดเจน หรือการออกแบบ Open Plan ที่เน้นขนาดกว้างขวาง จะช่วยให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น เพื่อให้บ้านกันฝุ่น สำหรับพื้นที่ภายนอกที่มีระแนงหรือรั้ว เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ระนาบแนวนอนเพราะเป็นจุดที่ฝุ่นผงเกาะติดได้ง่ายกว่าระนาบแนวตั้ง ซึ่งลมจะพัดพาฝุ่นที่เกาะอยู่เหล่านั้นเข้าสู่ภายใน และข้อดีของการเลือกใช้ระนาบแนวตั้งยังสามารถชะล้างสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ได้ง่ายกว่าในยามฝนตกนั่นเอง
บานประตูหน้าต่างที่ปิดสนิท ช่วยให้บ้านกันฝุ่น
เพราะฝุ่น PM 2.5 ส่วนมากเล็ดลอดผ่านเข้ามาทางช่องเปิดของบ้าน การเลือกใช้บานประตูหน้าต่างที่ปิดสนิทจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ปัญหา อย่างบานประตูหน้าต่างไวนิลจากวินด์เซอร์ ที่มีการออกแบบเพื่อรองรับสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากกรอบบานจะมีดีไซน์ประณีตสวยงาม ทนทาน และมีประสิทธิภาพป้องกันเสียงได้ดีแล้ว อีกหนึ่งคุณสมบัติที่น่าสนใจของประตูหน้าต่างไวนิลวินด์เซอร์ก็คือ การออกแบบให้วงกบและกรอบบานปิดแนบสนิท พร้อมเทคโนโลยีเชื่อมมุมวงกบและกรอบบานด้วยความร้อน จนผิววัสดุหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน จึงสามารถป้องกันมลภาวะทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่าประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมทั่วไป และยังป้องกันการรั่วซึมของน้ำและอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ